สืบสานภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
โรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบหรือโรครองช้ำ เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีอาการปวดส้นเท้าและปวดลามไปทั่วฝ่าเท้าหรืออุ้งเท้า อาการปวดมักจะเป็นเมื่อลุกเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน หรือหลังจากนั่งพักเป็นเวลานานแล้วยืนขึ้น แต่อาการปวดอาจมากขึ้นได้ในช่วงระหว่างวัน เช่น เมื่อยืนหรือเดินเป็นเวลานาน สาเหตุของโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ ได้แก่
1. ลักษณะการวิ่ง เช่น การวิ่งหรืออกกำลังกายบนพื้นที่แข็ง เช่น พื้นคอนกรีต พื้นซีเมนต์ การก้าวยาวๆทำให้น้ำหนักลงบริเวณส้นเท้า
2. การใช้งานที่มากเกินไป เช่น การวิ่งระยะทางไกล การยืนนานๆ 3. สวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม เช่น รองเท้าที่มีพื้นรองเท้าบางเกินไป 4. น้ำหนักตัวที่มากเกินไปทำให้ส้นเท้าต้องรับน้ำหนักตัวจนเกิดการอักเสบ 5. โครงสร้างของเท้า เช่น เท้าแบน หรืออุ้งเท้าโก่งมากเกินไปสำหรับวิธีการรักษาและป้องกัน ได้แก่ การปรับท่าทางการวิ่งให้ลงน้ำหนักทั้งฝ่าเท้า เลือกสวมใส่รองเท้าที่มีพื้นหนาหรือมีเจลรองรับการกระแทก และหากมีปัญหาที่โครงสร้างเท้า อาจใส่แผ่นเสริมรองเท้าสำหรับเท้าแบนหรืออุ้งเท้าโก่ง เพื่อให้รองเท้ากระชับกับเท้ามากขึ้น พยายามควบคุมน้ำหนักเพื่อลดการรองรับน้ำหนักของส้นเท้า แต่หากน้ำหนักตัวมากเกินไป ควรปรับเปลี่ยนวิธีการออกกำลังกายที่ลดแรงกระแทกบริเวณส้นเท้า เช่น การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน ควรมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณฝ่าเท้าอย่างสม่ำเสมอ และแช่เท้าในน้ำอุ่น 15 นาที อาจใส่สมุนไพรที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดผสมลงในน้ำ เช่น ไพล ตะไคร้ พิมเสน การบูร เพื่อให้พังผืดอ่อนตัวลดอาการปวด หรือใช้การนวดรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยประยุกต์ เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อที่แข็งตึง เพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ทำให้เลือดลมไหลเวียนดี ช่วยบรรเทาอาการปวดส้นเท้า
โรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบเป็นโรคที่ทำให้มีอาการปวดส้นเท้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย โดยสาเหตุหลักเกิดจากการที่ส้นเท้ารองรับน้ำหนักมากเกินไปทำให้เกิดการอักเสบ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง และหมั่นยืดกล้ามเนื้อบริเวณฝ่าเท้า แช่เท้าในน้ำอุ่น หรืออาจรักษาด้วยการนวดตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยประยุกต์
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และโรงพยาบาลกรุงเทพ